ข่าวที่ 06/20-01

วันที่ 20 มิถุนายน 2544

สรุปผลการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 5

วันนี้ เวลา 09.00 น. รองนายกรัฐมนตรี (นายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรอง เรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 5 ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการทำเนียบรัฐบาล สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

  1. เรื่อง ขออนุมัติหลักการจัดทำโครงการการศึกษาความเป็นไปได้ในการขุดคลองกระเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ และสังคม

คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 5 อนุมัติหลักการตามที่ กระทรวงคมนาคมเสนอการจัดทำโครงการ การศึกษาความเป็นไปได้ในการขุดคลองกระเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ และสังคม โดยให้จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ขั้นสมบูรณ์มีผู้แทนของส่วนราชการ 
ทุกกระทรวง ทบวง กรม นักวิชาการ ประชาชน และองค์กรพัฒนาภาคเอกชนร่วมเป็นคณะกรรมการ ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการดังกล่าวอยู่ภายใต้นโยบายและการกำกับดูแลของรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนำเสนอผลการศึกษาเพื่อใช้กำหนดทิศทางนโยบายของรัฐบาลต่อไป และให้กระทรวงคมนาคมเจรจาขอรับการสนับสนุนแหล่งเงินเพื่อทำการศึกษาจากองค์กรเอกชนทั้งในประเทศ
และต่างประเทศต่อไปโดยไม่มีเงื่อนไขผูกพัน ใช้เวลาในการศึกษาประมาณ 2 ปี  ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมเสนอว่า

1. จากการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ และสังคมที่ผ่านมาได้มีประชาชน นักวิชาการอิสระองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนมาก เสนอแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวหลายหนทางปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการขุดคลองเชื่อมสองฝั่งทะเลบริเวณพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย ระหว่างมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเรียกกันว่า “คอคอดกระ” หรือ “คลองกระ” จะเกิดเป็นเส้นทางใหม่ในการคมนาคม ทางทะเลของโลก ที่เอื้อผลประโยชน์ในด้านการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้ประชาชนจำนวนมาก เสริมสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้มีเสถียรภาพ และมั่นคงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สมควรที่จะพิจารณาใช้เป็นโครงการ แก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจและสังคมต่อไป

2. การศึกษาความเป็นไปได้ในการขุดคลองกระในอดีตที่ผ่านมาได้มีนักวิชาการและหน่วยงานต่าง ๆ ศึกษาความเป็นไปได้ขั้นต้น (Pre Feasibility Study) เท่านั้น ทำให้ผลสรุปที่ได้รับ จากการศึกษายังไม่ครอบคลุมทุกด้าน เป็นเหตุให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นแตกต่างกัน กระทรวงคมนาคมจึงเห็นควรศึกษาความเป็นไปได้ขั้นสมบูรณ์ (Full Feasibility Study) ในการขุดคลองกระ  โดยมีวัตถุประสงค์ของการศึกษา ดังนี้

1. การศึกษาความเป็นไปได้ขั้นสมบูรณ์จะเป็นการยืนยันตามหลักวิชาการว่า โครงการขุดคลองกระมีความเป็นไปได้ (Feasibility) สามารถยอมรับได้ (Aceptability) และมีความเหมาะสม (Suitability) ซึ่งจะเป็นข้อมูลนำไปสู่การตัดสินใจของประชาชนและรัฐบาลเพื่อดำเนินการต่อไป

2. เพื่อพิจารณาและศึกษาผลประโยชน์และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพลังอำนาจแห่งชาติทุกด้าน อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของความมั่นคงแห่งชาติ

3. เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ด้านการเลือกเส้นทางแนวคลอง วิศวกรรมการก่อสร้างคลอง และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง

4. เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ด้านเศรษฐกิจการลงทุนและความคุ้มค่าในการลงทุน

5. เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในด้านการรับฟังความคิดเห็นและการแสดงประชามติ หรือประชาพิจารณ์ (Public Hearing) จากประชาชนระยะเวลาในการศึกษาใช้เวลาประมาณ 1 ปี 6 เดือน จัดทำประชามติหรือประชาพิจารณ์ประมาณ 6 เดือน รวมเป็นเวลาประมาณ 2 ปี

2.      เรื่อง การทบทวนร่างพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์   (ฉบับที่..) พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ

คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 5 พิจารณาทบทวนร่างพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตร ีเสนอข้อสังเกตของนายกรัฐมนตรีในเรื่องร่างพระราชบัญญัติอนุพันธ์และตลาดอนุพันธ์ พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ ดังกล่าว แล้วที่ประชุมมีมติยืนยันการสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติ ทั้ง 2 ฉบับทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีข้อสังเกตดังนี้

1.การออกกฎหมายขนาดใหญ่ตามร่างพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. …มาจัดตั้งตลาด Derivatives อาจยังไม่มีความจำเป็น ในขณะที่ปริมาณธุรกรรมยังมีน้อย

2.ผู้ทำธุรกรรม Derivativesอาจเกิดการขาดทุนเป็นจำนวนมาก และรวดเร็วหากมีการบริหาร โดยไม่รอบคอบ

3. ความต้องการและปริมาณการทำธุรกรรม Derivatives มีน้อยมากจนไม่มีข้อมูลปรากฎ ในฐานข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ( กลต. ) ชี้แจงดังนี้

1) วัตถุประสงค์ของ ร่าง พรบ. สัญญาซื้อขายล่วงหน้า คือ เพื่อรองรับสถานภาพทางกฎหมายของสัญญา ซื้อขายล่วงหน้าที่ทำขึ้นโดยสุจริต และทางการสามารถกำกับดูแลผู้ประกอบการ และควบคุมผลกระทบต่อความมั่นคง ของระบบการเงิน มิได้มีการจัดตั้งตลาดซื้อขายล่วงหน้าขึ้นได้ทันที แต่จะเกิดขึ้นเมื่อเอกชนมีความพร้อมและทางการอนุญาต

2) ร่าง พรบ. ให้อำนาจในการกำหนดเงื่อนไข คุณสมบัติผู้ประกอบการ ระบบควบคุมภายในและบริหารความเสี่ยง ซึ่งจะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดปัญหาเรื่องการขาดทุนเป็นจำนวนมากจากธุรกรรมซื้อขายล่วงหน้า ตลอดจนกำหนดเกณฑ์การชำระราคาการปฏิบัติต่อลูกค้า และเปิดเผยความเสี่ยงเพื่อป้องกันความเสียหายต่อระบบสถาบันการเงิน

3) หากพิจารณาความผันผวนของตลาดการเงินที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าความเสี่ยงมีอยู่จริง ซึ่งหากภาคธุรกิจไม่สามารถป้องกัน ความเสี่ยงได้เหมาะสม ก็จะกระทบการดำเนินการได้ การที่มีข้อสังเกตว่าไม่พบธุรกรรมในประเทศ ที่เกี่ยวกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทางการเงินบนฐานข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย และส่วนมากสถาบันการเงินต่างชาติเป็นตัวกลางนั้น มิได้หมายความว่าความต้องการคุ้มครองความเสี่ยงมีอยู่น้อย แต่เป็นเพราะขาดกฎหมายที่ชัดเจนในการรองรับธุรกรรม และมีต้นทุนในการคุ้มครองความเสี่ยงสูง จนอาจไม่คุ้ม เป็นผลให้เสมือนว่าความต้องการคุ้มครองความเสี่ยงมีอยู่น้อย และการที่สถาบันของไทยไปทำธุรกรรมนอกประเทศเป็นส่วนมาก ทำให้ขาดความโปร่งใสของข้อมูลที่มีผลกระทบต่อระบบการเงินของประเทศสำนักงาน กลต. ยืนยันว่าการตรา พรบ. นี้เป็นการเอื้อต่อการพัฒนาธุรกรรมซื้อขายล่วงหน้าในประเทศ การมีกฎหมายรองรับเพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความมั่นใจ จะเป็นแรงจูงใจกระตุ้นให้มีการทำธุรกรรมมากขึ้น และเมื่อภาคเอกชนมีความพร้อมในทุก ๆ ด้านที่จะประกอบธุรกิจที่อยู่ภายใต้กรอบกฎหมายนี้ ก็จะมาขออนุญาตจากทางการ เพื่อเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ศูนย์ซื้อขายล่วงหน้า หรือสำนักบริหารบัญชี ดังนั้น ร่าง พรบ.นี้ จึงเป็นโครงการพื้นฐานที่จำเป็นยิ่งสำหรับการพัฒนาตลาดการเงินในประเทศ

        นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้ารายงานมาตรการเพื่อพัฒนาความสามารถ ในการเพิ่มรายได้จากการส่งออกและลดการนำเข้าของกระทรวงการคลัง และที่ประชุมขอให้นำเรื่อง โครงการส่งเสริมนิยมไทยเสนอที่ประชุมครั้งต่อไป ซึ่งมาตรการรณรงค์ส่งเสริมให้เกิดกระแสการประหยัด เงินตราควบคู่กับการลดความนิยมบริโภคสินค้าต่างประเทศและเพิ่มค่านิยมไทย กระทรวงการคลังมีการดำเนินการแล้วภายใต้โครงการ “ประหยัดเงินตราและเพิ่มค่านิยมไทย” โดยกระทรวงการคลังได้ริเริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2543 นอกจากนี้ในส่วนของกระทรวงการคลังได้กำหนดแผนงานย่อย รวม 6 แผนงาน เพื่อให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจในสังกัดถือปฏิบัติ ซึ่งได้เริ่มปฏิบัติแล้วตั้งแต่   วันที่ 1 เมษายน 2544

 

**********************

ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ดวงฤดี รัตนโอฬาร / รายงาน